เมนู

4. ทนฺตา (ฟันทั้งหลาย)


คำว่า ทนฺตา คือ กระดูกฟัน 32 ซี่ สำหรับผู้มีฟันบริบูรณ์. แม้
ฟันเหล่านั้น ว่าโดยสี ก็มีสีขาว. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานมิใช่น้อย จริงอยู่
บรรดาฟันเหล่านั้น ฟัน 4 ซี่ ตรงกลางฟันแถวล่างก่อน มีสัณฐานดุจเมล็ด
น้ำเต้าที่เขาปักเรียงกันไว้ที่ก้อนดินเหนียว. สองข้างฟันกลาง 4 ซี่นั้น ฟัน
ข้างละซี่ มีรากเดียว มีปลายเดียว มีสัณฐานดังดอกมะลิตูม. ถัดจากนั้น
ฟันข้างละซี่ มีราก 2 มีปลาย 2 มีสัณฐานดังไม้ค้ำยานน้อย (เกวียน).
ถัดไป ฟันข้างละ 2 ซี่ มีราก 3 มีปลายก็ 3. ถัดไป ฟันข้างละ 2 มีราก
4 มีปลาย 4. แม้ฟันแถวข้างบน ก็นัยนี้นั่นแหละ. ว่าโดยทิศ เกิดในทิศ
เบื้องบน. ว่าโดยโอกาส ตั้งอยู่ที่กระดูกกรามทั้ง 2. ว่าโดยปริจเฉท ข้าง
ล่างกำหนดด้วยพื้นรากของฟันอันตั้งอยู่ที่กระดูกกราม เบื้องบนกำหนดด้วย
อากาศ เบื้องขวางกำหนดฟันด้วยกัน. การกำหนดว่า ฟัน 2 ซี่ มิได้รวม
เป็นซี่เดียวกัน นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉท เช่นกับเส้นผม
นั่นแหละ.

5. ตโจ (หนัง)


คำว่า ตโจ คือ หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้น เหนือหนังนั้น มีผิวสีดำ
คล้ำ เหลือง เป็นต้น ผิวหนังนั้นเมื่อดึงออกจากสรีระทั้งสิ้น ก็จะมีประมาณ
เท่าเมล็ดในพุทรา. หนังนั้น ว่าโดยสี มีสีขาวเท่านั้น ก็ความที่หนังเป็นสี
ขาวนั้น ย่อมปรากฏเมื่อผิวถลอกออกไป เพราะเปลวไฟลวก หรือถูกประหาร
ด้วยเครื่องประหารเป็นต้น. ว่าโดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนร่างกายนั่นแหละ
นี้ เป็นความสังเขปในข้อว่า ว่าโดยสัณฐาน.